เกี่ยวกับโปรแกรม
โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับกระตุ้นการรู้คิดแบบหลายองค์ประกอบ
ในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก
ผู้พัฒนา
นายคณิติน จรโคกกรวด
นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยและสถิติทางวิทยาการปัญญา วิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา
ติดต่อ [email protected]
คำชี้แจง
คู่มือสำหรับผู้นำกลุ่มโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับกระตุ้นการรู้คิดแบบหลายองค์ประกอบ (CMCS) นี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับเพิ่มความสามารถด้านการรู้คิดในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก
วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการรู้คิด ได้แก่ การเรียนรู้ ความจำ ภาษา มิติสัมพันธ์ ทักษะพิสัย การบริหารจัดการของสมอง และส่งเสริมอารมณ์ความรู้สึกทางบวก
ประโยชน์ของโปรแกรม
ผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องระยะเริ่มแรก มีการรู้คิดที่ดีขึ้น เกิดการรวมกลุ่มในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุภายในชุมชนส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและสุขภาพจิต มีส่วนร่วมในชุมชนและท้องถิ่น และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
คุณสมบัติของผู้นำโปรแกรมไปใช้
1. จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการปัญญา (Cognitive science) จิตวิทยา กิจกรรมบำบัด พยาบาล หรือประสาทจิตวิทยา
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการปัญญา และสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น นักจิตวิทยา นักประสาทจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลผู้สูงอายุ พยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
3. นักวิจัยด้านวิทยาการปัญญา นักวิจัยด้านผู้สูงอายุ นักวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช
4. ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติการบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด (Cognitive stimulation therapy) ในผู้สูงอายุ
คุณสมบัติของผู้ใช้
1. ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก หรือมีความบกพร่องทางการรู้คิดในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การเรียนรู้ ความจำ ภาษา มิติสัมพันธ์ ทักษะพิสัย การบริหารจัดการของสมอง รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึก
2. ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมระดับรุนแรง
3. ไม่มีข้อบกพร่องด้านการมองเห็น
4. ไม่มีข้อบกพร่องด้านการได้ยิน
5. ไม่มีความพิการทางร่างกายจนไม่สามารถใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตได้
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
1. แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ขนาดหน้าจอ 10 นิ้วขึ้นไป ระบบปฏิบัติการแอนดรอย (Android) ความละเอียดอย่างน้อย 1024x768 pixel มีหน่วยความจำชั่วคราว 4 GB ขึ้นไป และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับติดตั้งโปรแกรมอย่างน้อย 100 MB
2. หูฟังแบบมีสายหรือไร้สาย รองรับการใช้งานทั้งหูซ้ายและขวา สามารถปรับระดับความดังได้
3. หน้าจอหรือเครื่องฉายภาพขนาดใหญ่อย่างน้อย 32 นิ้ว
4. ลำโพง
5. ไมโครโฟน (ขึ้นอยู่กับลักษณะห้องหรือบริเวณที่จัดกิจกรรม)
แนวคิดและรูปแบบของกิจกรรม
โปรแกรมสำหรับกระตุ้นการรู้คิดแบบหลายองค์ประกอบในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก พัฒนานาขึ้นตามแนวคิดการบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด และการฝึกด้วยการกระตุ้นพหุประสาทสัมผัส มีแนวคิดและหลักการดังนี้
การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิดประยุกต์แนวคิดของ Spector (2003) เป็นการกระตุ้นด้านจิตใจ ให้บุคคลรับรู้ถึงศักยภาพของตนเอง โดยไม่มองว่าตนเองขาดหรือมีความบกพร่อง มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวคิดใหม่ ความคิดใหม่ และการเชื่อมโยงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลักในการกระตุ้นการทำงานของสมองใน 3 ส่วนดังนี้ 1) กระตุ้นความจำโดยใช้การเชื่อมโยงความจำเดิมมาสู่ความเป็นปัจจุบัน ให้สิ่งกระตุ้นเร้าเพื่อช่วยการระลึกได้ เช่น เสียงหรือภาพ การใช้ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอระหว่างกิจกรรมในแต่ละครั้ง การระลึกได้นั้นอาจมีความคลุมเครือไม่จำเป็นต้องชัดเจนถูกต้อง ใช้การแสดงความคิดเห็นมากกว่าการตัดสินถูกผิด (ซึ่งอาจสนับสนุนการตรวจสอบความถูกต้องของแนวคิดนั้น) ใช้การรับรู้สิ่งรอบตัวตรงกับความเป็นจริง 2) กระตุ้นภาษาโดยใช้ชื่อระลึกชื่อของบุคคลและสิ่งของ รวมถึงการจัดกลุ่มหมวดหมู่ การคิดเกี่ยวคำและความสัมพันธ์ของคำ 3) กระตุ้นการบริหารจัดการ (Executive) โดยใช้การบอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่งต่างๆ การวางแผนและลำดับขั้นตอน การเชื่อโยงความสัมพันธ์ของคำ และการจัดกลุ่มหมวดหมู่ของสิ่งของ
การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิดมีหลักการพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมดังนี้ 1) กระตุ้นสมอง 2) คิดสิ่งใหม่อย่างเชื่อมโยง 3) เน้นความเป็นปัจจุบัน 4) เน้นความคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง 5) การใช้ความทรงจำต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน (6) การเคลื่อนไหวทางกาย 7) เสนอสิ่งกระตุ้นเร้าและกิจกรรมเพื่อช่วยให้เกิดการระลึกและการจดจ่อ 8) ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 9) การเรียนรู้จากภายใน 10) กระตุ้นภาษา 11) กระตุ้นหน้าที่บริหารจัดการ 12) ยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง และ 13) การให้เกียรติ
การกระตุ้นพหุประสาทสัมผัส เป็นการกระตุ้นการรับรู้ทางการมองเห็นและการได้ยินเสียง โดยใช้แนวคิดของการฝึกการปรับลำดับ (Temporal order judgement training) เพื่อฝึกการใส่ใจในการแยกสิ่งเร้าทั้งภาพและเสียงที่มีลำดับและเวลาเป็นเงื่อนไข (Setti et al., 2014) และแนวคิดของการฝึกการรับรู้เสียงและภาพ (Audio-visual perceptual training) เพื่อฝึกการแยกแยะสิ่งเร้าที่ต้องประมวลผลพร้อมกัน (Multisensory integration) (Yang et al., 2018)